วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ Field Day
PQS ร่วม “คูโบต้า-อายิโนะโมะโต๊ะ-ภาคีภาครัฐ” เปิดงาน Field Day มุกดาหาร
มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีหวังเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
“พรีเมียร์ ควอลิตี้ สตาร์ช” จับมือพันธมิตร “คูโบต้า-อายิโนะโมะโต๊ะ -หน่วยงานภาครัฐ -สถาบันการศึกษา” เปิดงาน ” FIELD DAY” วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดมุกดาหาร “นำร่องสาธิตการปลูกมันสำปะหลังอย่างเป็นระบบ” โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตมันสำปะหลัง โดยตั้งเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมปีนี้จำนวน 250 ราย
นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ (Premium Grade) และแป้งดัดแปร (Modified Starch) เปิดเผยว่าบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตร บริษัท คูโบต้าเจริญชัย มุกดาหาร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งได้รับเกียรติจากคุณวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราขการจังหวัดมุกดาหาร มาร่วมเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ FIELD DAY”ซึ่งจัดขึ้น ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ณ บริเวณ PQS Farm
สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งสาธิต การใช้เครื่องจักรกลเกษตรเพื่อบริหารจัดการแปลงปลูกมันสำปะหลัง พร้อมทั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศน์เกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ที่สนใจ
ทั้งนี้กลุ่มบริษัท PQS เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ด้วยวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพจากพื้นที่ในจังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่ใกล้เคียงกว่าปีละ 250,000 ตัน จากเกษตรกรที่ส่งเสริมรวมกว่า 6,800 ครอบครัว ในพื้นที่ ประมาณ 65,200 ไร่ และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแป้งมันสำปะหลังมาร่วม 20 ปี ที่พร้อมมุ่งมั่นเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องในระดับอาเซียน
นายรัฐวิรุฬห์กล่าวว่า มันสําปะหลัง เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงเศรษฐกิจมหภาคจนถึงระดับครัวเรือนของชาวไทย มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี อีกทั้งยังมีศักยภาพสามารถเพิ่มผลผลิตตันต่อไร่ให้สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยพื้นฐานของปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ มีความต้องการที่เติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านอาหารและอื่นๆ ทว่าปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร มักเป็นการปลูกและจัดการโดยใช้แรงคนเป็นหลัก ทำให้เกษตรกรมีข้อจำกัดในการดูแลบำรุงรักษาแปลงปลูกมันสำปะหลัง และไม่สามารถจัดการพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมทันตามฤดูกาล อันเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกสูง ขาดแคลนต้นพันธุ์ที่ดี ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงผู้สูงวัย และยังขาดโอกาส ในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย
ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตมันสำปะหลัง ทางกลุ่มบริษัทPQS พร้อมทั้งภาคีจึงได้ร่วมผนึกจุดแข็งและนวัตกรรมเพื่อเสนอแนวทางที่จะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ร่วมสร้างพื้นที่เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการใช้เครื่องจักรการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งเสริมให้มีการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงความรู้ในการบริหารจัดการแปลงอย่างถูกวิธีต่อช่วงอายุต่างๆของการปลูกมันสำปะหลัง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม จนเป็นวัตถุดิบมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ส่งเสริมความยั่งยืนต่ออาชีพการปลูกมันสำปะหลังสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ FIELD DAY” โดยมี “PQS” เป็นตัวกลางเชื่อมโยง ผนึกกำลังระหว่างเกษตรกร หน่วยงานรัฐ ภาคีภาคเอกชน ผ่านกระบวนการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลเกษตร และด้านนวัตกรรมการจัดการระบบการเพาะปลูกมันที่เหมาะสม เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะเพิ่มความยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกร และมีวัตถุดิบคุณภาพดี ที่พอเพียงต่อการผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทย
โดยในงานดังกล่าว ได้เชิญเกษตรกรที่เป็นพันธมิตรผู้ส่งมอบมันสำปะหลังให้กับบริษัทมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเปิดโอกาสให้เกษตรกรกลุ่มใหม่ที่สนใจเข้าร่วมงาน รวมจำนวน 250 ราย ส่วนการจัดทำแปลงสาธิตสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการระบบการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อนำไปสู่การดำเนินการวิจัยและพัฒนา(R&D) ปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความจำเพาะต่อความต้องการของลูกค้า การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการใช้เครื่องจักรกลเพื่อช่วยทดแทนแรงงาน การบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่การเกษตรอย่างเหมาะสม การสร้างเสริมความมั่นคงของระบบนิเวศน์เกษตรโดยใช้ทรัพยากรดินและน้ำเชิงอนุรักษ์ และขยายผลสู่เกษตรกรต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ห่วงโซ่อุปทานมันสำปะหลังร่วมกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน